ต๊ะ ท่าหลา

20/11/58

หากเราเข้าใจศาสนาพุทธและดูประวัติการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้ว เราก็จะเห็นว่า การก่อเกิดศาสนาพุทธนั้นอยู่ท่ามกลางความเจริญของศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และลัทธิอื่นๆ มากมาย แต่ศาสนาพุทธได้เจริญเติมโตไปทั่วโลกเพราะเนื้อแท้ของหลักธรรมที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ตรงที่การดับทุกข์หรือเอาชนะใจตนเอง หรือเอาชนะกิเลสนั่นเอง และความเป็นห่วงว่าศาสนาพุทธจะล่มสลายนั้น ในสมัยพระพุทธกาลก็เคยเกิดขึ้น ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “พุทธศาสนาไม่มีผู้ใดทำลายได้ เว้นแต่พุทธบริษัททั้งสี่เท่านั้นที่จะเป็นผู้ทำลาย”

พุทธบริษัททั้งสี่ ได้แก่

1. นักบวชที่เป็นชาย เรียกว่า ภิกษู หรือภิกขุ ซึ่งต้องถือศีล 227 ข้อ
2. นักบวชที่เป็นหญิง เรียกว่า ภิกษุณี หรือภิกขุณี ซึ่งต้องถือศีล 310ข้อ ปัจจุบันไม่มีแล้ว แต่ยังมีนักบวชหญิงเรียกว่า ชี หรือ แม่ชี ถือศีล 8 ข้อ
3. ประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธที่เป็นชาย เรียกว่า อุบาสก ต้องถือศีล 5 ข้อ
4. ประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธที่เป็นหญิง เรียกว่า อุบาสิกา ต้องถือศีล 5 ข้อ

พุทธบริษัททั้งสี่เหล่านี้เท่านั้น ที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองหรือล่มสลาย

ปัจจุบันเราต้องยอมรับความจริงว่า ผู้ที่นับถือศาสนาต่างๆ นั้น เป็นการนับถือโดยผู้ปกครองเป็นผู้กำหนดทั้งการศึกษาก็มิได้ให้ความสำคัญเรื่องการให้ความรู้ทางจิตวิญญาณ มุ่งแต่ให้ความรู้ทางประกอบอาชีพเท่านั้น ทำให้สังคมปัจจุบันเห็นแก่ตัว ผูกพยาบาทหมาดร้าย และทำร้ายซึ่งกันและกัน โดยไม่ละอายต่อบาป อันผิดไปจาก หลักการของผู้นับถือศาสนาพุทธที่มีแต่การให้อภัยและช่วยเหลือกัน ไม่ซ้ำเติมและให้ร้ายซึ่งกันและกัน

ดังนั้น การนำพุทธศาสนามาบรรจุในรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำให้พุทธศาสนาจะอยู่คู่กับประเทศไทย การจะให้พุทธศาสนาอยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป พุทธบริษัททั้งสี่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง โดยนักบวชจะต้องนำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาเผยแพร่ให้อุบาสกและอุบาสิกามาถือปฏิบัติให้ถูกต้อง มิใช่ชักนำให้อุบาสกและอุบาสิกาซื้อบุญเพื่อนำไปสู่สวรรค์ แต่ต้องอบรมสั่งสอนให้อุบาสกและอุบาสิกาทำบุญกับพระอรหันต์ในบ้าน (บิดา, มารดา) ให้มากๆ และขัดเกลากิเลสให้ลดลง หรือเอาชนะใจตนเองมากกว่าการเอาชนะผู้อื่น

ปัจจุบัน พระภิกษุ จำนวนมากไม่ได้นำหลักธรรมของพระพุทธมาเผยแพร่ แต่กลับนำหลักธรรมพื้นฐานมาให้อุบาสกและอุบาสิกา หลงให้ทำบุญเพื่อไปสวรรค์หรือซื้อสวรรค์ มิได้สอนให้ปฏิบัติตนเพื่อเอาชนะกิเลสของตน

ดังนั้น ถ้านักบวชท่านใดที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงการสั่งสอนอุบาสกและอุบาสิกาตามหลักธรรมที่แท้จริงถือได้ว่านักบวชเหล่านั้นเป็นผู้ทำลายศาสนาพุทธ

ทั้งเหล่าอุบาสกและอุบาสิกาก็เช่นเดียว ต่างก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำให้นักบวชปฏิบัติตนให้อยู่ในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลายมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันดูแลนักบวชให้ละหากจากกิเลส มิใช่ส่งเสริมให้นักบวชหลงใหลอยู่ในกิเลสมากขึ้น ทำให้นักบวชหลงใหลในอามิสสินจ้าง จึงไม่สอนหลักธรรมให้ขัดเกากิเลส แต่กลับช่วยกันส่งเสริมกิเลสซึ่งกันและกัน เช่น การสร้างกุฏิให้สวยงาม สร้างด้วยไม้สักราคาแพง ซึ่งความจริงกุฏิมีเพื่ออาศัยไม่ใช่สวยงาม หรือซื้อรถยนต์ราคาแพงหรูๆ ให้วัดเพื่อหลวงพ่อใช้ ซึ่งความจริงเราจะเห็นว่า รถที่อุบาสกและอุบาสิกาซื้อถวายวัดนั้น ไม่ค่อยได้ใช้เท่าใดกลับ เป็นภาระให้วัดต้องบำรุงรักษา เพราะภารกิจของพระคือการนำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไปเผยแพร่ กิจกรรมปกติจึงอยู่ที่วัด ส่วนกิจกรรมนอกวัดอุบาสกและอุบาสิกา ก็มักจะจัดยานพาหนะมารับพระท่านอยู่แล้ว

หากอุบาสกและอุบาสิกายังคงดูแลนักบวชให้อยู่ใกล้กิเลสมากขึ้น ศาสนาพุทธก็ย่อมเสื่อมทรามไปเป็นไปตามธรรมดา เราจึงพบข่าวนักบวชกระทำผิดอยู่เนืองๆ ทั้งหากรัฐซึ่งมีหน้าที่กำหนดแนวทางให้ประชาชนประพฤติดี ไม่ทำผิดกฎหมาย การศึกษาในทุกระดับการศึกษา จึงจะต้องมีหลักสูตรวิชาหน้าที่และศีลธรรมมาศึกษากันในระบบการศึกษาด้วย จึงควรนำศาสนาทุกศาสนาที่มีผู้นับถือตั้งแต่ ร้อยละห้าของประชาชนมาบรรจุในระบบศึกษา

5/7/58

อริยสัจ4

รู้จริงในอริยสัจ 4 สุดยอดวิถีชนะความทุกข์
มีนาคม 28, 2012 โดย ธ. ธรรมรักษ์
แล้วเราก็มาถึงส่วนแห่งการเรียนรู้วิธีเอาชนะทุกข์แนวพุทธแล้วนะครับ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การดำรงชีวิตให้เกิดความสุขและเอาชนะความทุกข์ได้นั้น เราต้องดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง และรับมือความทุกข์ได้อย่างเหมาะสม เพียงเท่านี้ก็เท่ากับเป็นการสร้างรากฐานให้ชีวิตของเรามีความสุขได้



ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือ เราต้องรู้หลักธรรมที่สอนสั่งว่า “ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องนั่น ต้องทำอย่างไร” และ “เมื่อเจอปัญหา หรือตัวทุกข์แล้ว เราจะกำจัดขับไล่มันอย่างได้ผลได้อย่างไร”



ในตอนนี้เราจะกล่าวถึงแนวทางชนะความทุกข์ก่อนนะครับ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงมอบหลักธรรมแห่งการดับทุกข์เอาไว้ให้เรานำไปใช้กัน นั่นก็คือ อริยสัจ 4 ซึ่งแปลว่า ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ อันประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค กล่าวคือหากเกิดทุกข์ขึ้นมาเมื่อใด ก็ใช้ อริยสัจ 4 นี่แหละ เป็นตัวรับมือ



ก่อนอื่นเรามารู้จักความหมายของมัน เพื่อจะใช้ได้รู้ว่าแต่ละตัวมีหน้าที่ทำอะไร และเราใช้งานมันได้อย่างไรบ้าง เมื่อเราเจอกับความทุกข์เข้า



ทุกข์ คือ สภาพที่ทนอยู่ได้ยาก ซึ่งก็คือความทุกข์นั่นเอง มันคือความจริงประการแรกที่ว่า มนุษย์เกิดมาแล้ว ย่อมต้องประสบกับทุกข์ ไม่ว่าจะทุกข์ทางกาย เช่น โรคภัยไข้เจ็บ หรือความแก่ชรา หรือทุกข์ทางใจ เช่น ความหมองมัวของจิตของเกิดจากกิเลสและนิวรณ์ทั้งหลาย



วิธีใช้เพื่อนำไปดับทุกข์ นี่ถือเป็นขั้นตอนแรกแห่งการดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ กล่าวคือ เราต้องมองเห็นทุกข์ รู้เสียก่อนว่าตอนนี้เรากำลังประสบกับทุกข์เรื่องอะไร ต้องใช้สติยอมรับว่า ทุกข์คือเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ และการไปตีโพยตีพาย โวยวายอาละวาดก็ไม่ได้ช่วยขับไล่ทุกข์ไป แต่มันเป็นการทำให้ใจร้อนรนยิ่งขึ้น ทำให้ทุกข์ที่มีขยายขนาดยิ่งขึ้น



ดังนั้นในขั้นตอนแรกแห่งการดับทุกข์อย่างมีเหตุและผล คือ เราต้องคุมสติให้ดี เข้าใจตามหลักความจริงว่า “ทุกข์ ย่อมเกิดขึ้นได้” เราต้องทำใจยอมรับมันอย่างตรงไปตรงมา กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา และไม่หลอกตัวเองหรือหาทางหนีปัญหา ซึ่งในทางพุทธศาสนา ได้เรียกแนวทางการปฏิบัติต่อทุกข์ อย่างมีสตินี้ว่า ปริญญา



สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ซึ่งตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดทุกข์ คือสิ่งที่เรียกว่า ตัณหา 3 อันประกอบไปด้วย กามตัณหา ซึ่งก็คือความทะยานอยากในกาม, ภวตัณหา ซึ่งก็คือความทะยานอยากที่จะเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ และ วิภวตัณหา คือ ความไม่อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งตัณหาเหล่านี้ คือสภาวะที่เกิดต่อเนื่องมาจากตัวกิเลสทั้งหลาย เมื่อเราเกิดกิเลส (โลภะ โทสะ โมหะ) เราก็จะเกิดความอยากหรือไม่อยากที่ชัดเจนเป็นรูปเป็นร่าง



วิธีใช้เพื่อนำไปดับทุกข์ หลังจากเรารู้จักตัวทุกข์ ขั้นต่อมาก็คือ เราต้องรู้ให้ถึงสาเหตุแห่งทุกข์ ว่ามันมีที่มาจากไหน ซึ่งการที่ผมได้บอกเล่ารายละเอียดแห่งทุกข์ไปเมื่อตอนที่แล้ว ก็เพื่อให้เราสามารถบอกตนเองได้ว่า ตอนที่เรากำลังเป็นทุกข์นั้น เราทุกข์เพราะอะไร เช่น เราทุกข์เพราะความอยากได้ (ทุกข์เพราะกิเลส ประเภทโลภะ) หรือทุกข์เพราะความโกรธเกลียด (ทุกข์เพราะกิเลส ประเภทโทสะ) เราจะได้เห็นถึงสาเหตุ และทำการยุติมันได้อย่างตรงจุด



เปรียบได้กับหมอที่หากจะรักษาอาการป่วยของคนไข้ ก็ต้องมองให้ถูกว่าเขาเป็นโรคอะไร จะได้ให้ยาถูกชนิด ซึ่งการมองปัญหาไปถึงต้นตอ และเตรียมลงมือแก้ไขนั้น มีคำเรียกเฉพาะว่าเป็น ปหานะ



นิโรธ คือ การดับทุกข์ กล่าวคือเป็นการลงมือยุติตัณหา 3 นั้นให้หมดไป ซึ่งนี่ถือเป็นขั้นตอนจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกอันเป็นทุกข์ อันร้อนรนของเรา โดยการลงมือดับตัณหาทั้งหมด เปรียบได้กับถ้าทุกข์เป็นไฟ นิโรธก็คือขั้นตอนการทำให้ไฟนั้นดับลง ถ้าถึงขั้นเป็นไฟสิ้นเชื้อได้จะยิ่งดี



สำหรับการใช้นิโรธเพื่อดับตัณหานั้น มี 5 แนวทางที่เราสามารถนำไปปรับใช้เพื่อจัดการกับตัวตัณหาได้



1. วิกขัมภนนิโรธ คือ การดับด้วยการข่ม ซึ่งสามารถทำได้สำหรับผู้ที่ฝึกฝนจิตใจมาดีในระดับหนึ่ง ก็จะสามารถทำใจให้อยู่เหมือนกิเลสตัณหาทั้งปวง มองว่ามันเป็นของธรรมดาที่เกิดมาแล้วย่อมดับไป



2. ตทังคนิโรธ คือ การดับกิเลสตัณหาด้วยหลักธรรมอันเป็นคู่ปรับของมัน เช่นเมื่อเราเกิดโทสะ เราก็ต้องนึกถึงธรรมแห่งความอดทนอดกลั้น หรือขันติขึ้นมาเพื่อสงบระงับมัน



3. สมุทเฉจนิโรธ คือ การดับกิเลสตัณหาด้วยการตัดขาด โดยใช้หลักแห่งมรรคมีองค์ 8 เข้าจัดการ (ซึ่งจะมีการกล่าวถึงมรรคมีองค์ 8 ในส่วนถัดไป)



4. ปฏิปัสสัทธินิโรธ คือ การดับกิเลสตัณหาด้วยการสงบระงับ สามารถระงับกิเลสได้อย่างรวดเร็วได้จิตที่ฝึกมาดีแล้ว



5. นิสสรณะนิโรธ คือ การดับกิเลสโดยสิ้นเชิง และดับได้ต่อเนื่องตลอดไป ซึ่งก็คือการถึงขั้นนิพพาน มองทุกสิ่งที่เรื่องว่าง ดับกิเลสได้อย่างถาวร



วิธีใช้เพื่อนำไปดับทุกข์ หลายท่านอาจสงสัยว่า เมื่อรู้ทุกข์และเหตุแห่งทุกข์แล้ว ทำไมขั้นถัดมาถึงไม่ใช่การลงมือแก้ปัญหา แต่กลับต้องมาหาทางระงับทุกข์ให้ดับก่อนถึงจะเริ่มแก้ปัญหา



นั่นก็เพราะในยามที่ใจเราร้อนรน อันเกิดจากไฟแห่งความทุกข์แผดเผา พลังสติปัญญาและความคิดก็จะอ่อนแรงหรืออาจไม่มีพลังเพียงพอที่จะทำอะไรได้ อีกทั้งการพยายามคิดหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาท่ามกลางใจที่ยังมีไฟสุมทรวง ก็เปรียบได้กับการพยายามขับรถออกจากป่ายามค่ำมืด หรือการพยายามแก้ปัญหาด้วยใจที่ลนลาน ซึ่งย่อมเป็นการยากที่เราจะสามารถจัดการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ



นี่จึงเป็นขั้นตอนแห่งการหาทางสงบจิตใจ หรือ ตั้งสติ เพื่อเรียกพลังแห่งปัญญาให้เกิดขึ้น เราจะได้ลงมือแก้ปัญหาได้ มองสาเหตุของปัญหา มองที่มาของตัวทุกข์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง อันจะส่งผลให้เราสามารถเอาชนะทุกข์ตัวนั้นได้อย่างเด็ดขาดที่สุด



มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่การดับทุกข์ หรือก็คือการลงมือแก้ปัญหา โดยการปฏิบัติสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสำหรับการระงับทุกข์นั้นให้จบสิ้นไป ซึ่งเราจะกระทำสิ่งที่ถูกได้ก็ต่อเมื่อเราผ่านกระบวนการรู้ตนว่าทุกข์เรื่องอะไร (ทุกข์) รู้ว่าทุกข์เพราะอะไร (สมุทัย) และทำใจสงบ เปิดสมอง เรียกสติปัญญากลับมาเป็นมือขวาช่วยในการฝ่าฟันปัญหาพร้อมแล้ว (นิโรธ)



ในขั้นตอนแห่งมรรคนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงมอบหลักที่เรียกว่า มรรคมีองค์ 8 ไว้ เพื่อให้เป็นแนวทางในการวางแผนเอาชนะความทุกข์ ในการเลือกปฏิบัติสิ่งที่ถูกต้องเพื่อยุติปัญหาทุกรูปแบบ กล่าวคือหากอยากเอาชนะความทุกข์ได้ ก็ควรดำเนินการตามแนวทางต่อไปนี้



1. สัมมาทิฏฐิ คือ การเห็นชอบ

หมายถึง การลงมือกำจัดทุกข์ หรือแม้แต่การใช้ชีวิตปกตินั้น เราควรทำโดยมีรากฐานแห่งความคิดและความเชื่อที่ถูกต้องอยู่เสมอ (เช่น เชื่อว่าทำดีย่อมได้ดี เป็นต้น) ใช้ปัญญาในการเลือกทำ เลือกปฏิบัติในสิ่งที่เกิดคุณ ไม่ใช่เกิดโทษ ไม่ใช่ทำด้วยความหลงผิดหรือทำด้วยความไม่รู้ ดังนั้นเราจึงควรสำรวจตัวเองก่อนลงมือแก้ปัญหาหรือเอาชนะความทุกข์เสมอว่า ตอนนี้เรามีความเห็นความเชื่อที่เหมาะสม ถูกต้องแล้วหรือยัง



2. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ

หมายถึง การใช้สมองและใช้ความคิดในทางที่นำไปสู่ความดีงาม หากจะลงมือเอาชนะความทุกข์ก็ต้องเป็นการแก้ทุกข์แล้วเกิดความงอกงามขึ้น เกิดสิ่งดีงามขึ้น ไม่ใช่แก้ทุกข์ของเราแล้วไปเกิดทุกข์กับชาวบ้านต่อ กล่าวคือต้องเป็นการคิดที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ถึงจะช่วยให้การเอาชนะความทุกข์ได้ผลอย่างสมบูรณ์



3. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ

หมายถึง การแก้ปัญหาหรือการดำรงชีวิตประจำวันก็ควรใช้คำพูดคำจาที่ไพเราะ ดีงาม พูดแล้วเกิดผลดี พูดแล้วทำให้คนรักกัน เกื้อกูลกัน เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ พูดให้เกิดความสร้างสรรค์และสมัครสมานสามัคคี หรือพูดแล้วทำให้เกิดทางออก จึงเป็นหลักที่มีไว้เพื่อเตือนสติยามเอาชนะความทุกข์ว่า การพูดไม่ดี พูดด้วยอารมณ์ รังแต่จะทำให้เกิดปัญหาเพิ่ม จึงควรมีสติ สงบระงับไว้ ข่มคำพูดที่สร้างเรื่องเชิงลบไว้ให้ได้



4. สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติชอบ

หมายถึง มีการกระทำในทางที่ดีงาม ทำแต่พฤติกรรมที่ดี ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำให้ใครทุกข์ใจ ทำพฤติกรรมที่ดีต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ทำอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา และไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งการที่คนเรามีพฤติกรรมที่ถูกก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดความผิดพลาดในชีวิต หรือโอกาสการเกิดทุกข์ได้เป็นอย่างดี และหากเราถึงขั้นประพฤติชอบได้เป็นปกติวิสัยแล้ว ความทุกข์ที่เราจะต้องเผชิญก็อาจจะเหลือแค่ความทุกข์ที่เกิดจากภายนอกเท่านั้น



5. สัมมาอาชีวะ คือ ประกอบอาชีพชอบ

หมายถึง การประกอบอาชีพที่สุจริต อาชีพที่สร้างความเจริญทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ อาชีพที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน ไม่ใช่แก่งแย่งทำร้าย ทำให้ใครต้องเสียประโยชน์ ซึ่งหากคนเราประกอบอาชีพในความเหมาะสม ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อกัน ก็จะเป็นทางสำคัญที่ช่วยบรรเทาความทุกข์ในชีวิตลงไปได้อีกมากมายทีเดียว



6. สัมมาวายามะ คือ การมีความเพียรชอบ

หมายถึง การพยายามที่จะดำรงตนอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องเหมาะสม หมั่นเตือนตนไม่ให้ทำอกุศลกรรม หรือทำสิ่งที่ไม่ดี เตือนตนว่าหากนาทีนี้ทำสิ่งไม่ดีหรือในอดีตทำสิ่งไม่ดี ก็ขอให้ละเลิก และหันมาทำสิ่งที่ดี เพื่อให้ชีวิตของตนในภายภาคหน้าได้พบ ได้เจอกับสิ่งที่ดีๆ เช่นกันกับในทางการแก้ปัญหา หากเรารู้ว่าในอดีตนั้น เราต้องเจอทุกข์ ต้องเจอปัญหาก็เพราะการทำผิดพลาดใดๆ แล้ว เราก็ต้องพยายามอย่างมากที่จะนำตนเองเข้าสู่เส้นทางแห่งความถูกต้อง



7. สัมมาสติ คือ การมีสติเสมอ

หมายถึง การตั้งตนอยู่ในความมีสติ ตระหนักรู้เสมอว่า เรากำลังจะทำอะไร หรือกำลังทำอะไรอยู่ในขณะนี้ ไม่เผลอไผลลืมตัว บอกตนเองเสมอว่าจงทำสิ่งชอบ และละเว้นการทำสิ่งมิชอบ โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหารบกวนจิตใจเราก็ต้องไม่ปล่อยให้ใจเผลอไผลขาดสติ จำไว้ว่าสติต้องอยู่กับเราเสมอ เมื่อใดก็ตามที่เราหุนหัน สับสน หรือเกิดอารมณ์เชิงลบ นั่นแสดงว่าสติกำลังเลือนหายไป เราต้องรีบเตือนตัวเองเรียกสติกลับคืนมาให้เร็วที่สุด และใช้สตินั้นพิจารณาตัวตนในปัจจุบันของเรา ว่ากำลังโกรธหรือไม่ กำลังเศร้าหรือไม่ กำลังเครียดหรือไม่ ซึ่งการใช้สติพิจารณาก็เพื่อที่เราจะได้ลงมือปฏิบัติสิ่งที่ถูกต้องต่อไป ซึ่งการมีสตินี้เองคือจุดสำคัญมากของอริยสัจ 4



8. สัมมาสมาธิ คือ การมีสมาธิตั้งมั่นอยู่ในทางที่ชอบ

หมายถึง การตั้งมั่นให้ใจอยู่เหนือกิเลส อยู่แต่ในทิศทางที่ดี ยามเกิดปัญหาหรือความทุกข์ ก็มีพลังสมาธิที่จะจดจ่อพิจารณาความทุกข์นั้นอย่างมีสติ มีเหตุผล และมีขั้นตอน มีความจดจ่อที่สร้างพลังให้กับจิตใจ ไม่ปล่อยให้อารมณ์ผันผวนไปตามสภาวะต่างๆ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย เพื่อจะได้ทำให้เรามีความมั่นคงทางจิตใจ อันจะทำให้ตัดสินใจทำอะไรหรือไตร่ตรองอะไรได้อย่างเหมาะควรเสมอ



วิธีใช้เพื่อนำไปดับทุกข์ มรรค คือ ขั้นตอนแห่งการลงมือดับทุกข์ ชนะทุกข์ ซึ่งขอเพียงเรามีสติ มีความใจเย็นเพียงพอแล้ว เราก็ค่อยเริ่มกระบวนการคิด ไตร่ตรอง วิเคราะห์ พิจารณาสิ่งต่างๆ ด้วยใจเป็นกลาง และด้วยความคิดที่มุ่งหมายให้เกิดเรื่องในทางบวก ทางสร้างสรรค์ แล้วก็ค่อยๆ ประยุกต์ลงมือทำไป เช่น หากวันหนึ่งโทรศัพท์มือถือของเราเกิดหายไป แน่นอนว่าเราต้องทุกข์อย่างมาก และอาจเกิดอารมณ์ขุ่นมัว ไม่พอใจ เกิดความเศร้า หรือดีไม่ดีก็อาจเกิดกิเลสในเชิงโทสะ คิดว่ามีคนมาขโมยไป หรือไม่ก็เกิดโมหะ สับสน งงงันทำอะไรต่อไปไม่ถูก แต่เราต้องรีบดึงสติกลับมา ตั้งสติให้เร็วที่สุด ค่อยๆ ระลึกหาสาเหตุ ว่าเราอาจไปทำหล่นไว้ที่ไหน หรือ เราควรไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้ช่วยตามหาหรือไม่ หรือ จะต้องเผื่อใจว่าเราอาจต้องซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ ในกรณีที่หาไม่เจอ



ระหว่างการดำเนินการแก้ปัญหานั้น เราก็ต้องระลึกถึงหลักแห่งมรรคมีองค์ 8 ไว้เสมอ ว่าเราต้องทำสิ่งที่ถูก ไม่โวยวาย ไม่อารมณ์เสีย ไม่ขาดสติ และไม่หันไปทำสิ่งผิดเสียเอง (เช่น ไปขโมยมือถือหรือขโมยเงินคนอื่นมาซื้อมือถือใหม่ให้ตัวเอง)



จุดสำคัญแห่งการเอาชนะความทุกข์นั้น คือ เราต้องมีสติ ต้องเรียกสติให้พร้อมเสมอ ต้องมาก่อนอื่นใด อย่าปล่อยให้ใจวุ่นวายสับสน ซึ่งหากจะถามว่าแล้วต้องทำอย่างไรถึงจะมีสติ เรื่องนี้ก็ต้องอยู่ที่ตัวเราเองว่าจะหมั่นฝึกฝนพลังแห่งสติมากน้อยแค่ไหน



และสำหรับคนที่ยังไม่ค่อยกระจ่างนักในกระบวนการของอริยสัจ 4 เพราะมันเป็นเรื่องที่ละเอียดและต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ผมก็ขอแนะนำให้คุณอ่านบทนี้อีกสักครั้ง ซึ่งหากยังรู้สึกว่าเรื่องนี้ซับซ้อนมากอยู่ ก็ไม่ต้องกังวลครับ ในบทถัดๆ ไปผมยังมีพุทธวิธีชนะความทุกข์อีกกลุ่มหนึ่ง ที่สามารถเข้าใจได้ง่ายกว่า แต่ก็ยังคงหลักการแห่งอริยสัจ 4 นี้ไว้อย่างครบถ้วน

1/6/58

พระคุณของพ่อแม่




พระคุณของพ่อแม่

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอุปมาว่า ถ้าบุตรจะพึงวางบิดามารดาไว้บนบ่าทั้งสองของตน ประคับประคองท่านอยู่ท้องฟ้าแทนกระดาษ ยอดเขาพระสุเมรุ แทนปากกา น้ำในมหาสมุทรแทนหมึก เขียนบรรยายคุณของพ่อแม่ จนท้องฟ้าเต็มไปด้วยอักษร ภูเขาสึกกร่อนจนหมด น้ำในมหาสมุทรเหือดแห้ง ก็ยังบรรยายคุณของพ่อแม่ไม่หมด

บิดามารดาเป็นผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ของบุตร สรุปโดยย่อคือ

๑. เป็นต้นแบบทางกาย แบบเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำให้ของทั้งหลาย ในโลกมีค่าสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ก้อนดินเหนียวธรรมดา ถ้าหากนำมาใส่แบบพิมพ์แล้วพิมพ์เป็นตุ๊กตา ก็ทำให้ดินก้อนนั้นมีค่าขึ้นมา เป็นเครื่องประดับบ้านเรือนได้ ดินเหนียวก้อนเดียวกันนี้ หากได้แบบที่ดีกว่าขึ้นมาอีก เช่นแบบเป็นพระพุทธรูป ดินเหนียวก้อนนี้ก็จะทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น ผู้คนได้กราบไหว้บูชา จะเห็นได้ว่า คุณค่าของดินเหนียวก้อนนี้ขึ้นอยู่กับแบบที่พิมพ์นั่นเอง

ในทำนองเดียวกัน การเกิดของสัตว์ เช่นเป็น ช้าง ม้า วัว ควาย ฯลฯ แม้จะมีปัญญาติดตัวมามากสักปานใดก็ไม่สามารถทำความดีได้เต็มที่ โชคดีที่เราได้เกิดเป็นคน ได้โครงร่างที่ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลาย เหมาะในการ ทำความดีทุกประการ เราจึงสามารถใช้ความรู้ความสามารถประกอบคุณความดีได้เต็มที่ ทั้งนี้ก็เพราะเรามีพ่อแม่เป็นต้นแบบทางกายให้นั่นเอง

๒. เป็นต้นแบบทางใจ ให้ความอุปการะเลี้ยงดู ฟูมฟัก ทะนุถนอม อบรมสั่งสอน ปลูกฝังกิริยามารยาท ให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมแก่ลูก

พระคุณพ่อแม่ในการเป็นต้นแบบทางกายให้เรา ก็นับว่ามีมากเหลือหลายแล้ว ยิ่งท่านอบรมเลี้ยงดูเรามา เป็นต้นแบบทางใจให้ด้วย ก็ยิ่งมีพระคุณมากเป็นอเนกอนันต์

มงคล ที่ 11 บำรุงบิดามารดา มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

สมญานามของพ่อแม่

สมญานามของพ่อแม่นั้น กล่าวกันว่าท่านเป็นทั้งพรหมของลูก เทวดาคนแรกของลูก ครูคนแรกของลูก และเป็นพระอรหันต์ของลูก ซึ่งอธิบายได้ดังนี้

- พ่อแม่เป็นพรหมของลูก เพราะเหตุที่มีพรหมวิหารธรรม ๔ ประ-การ ได้แก่

๑. มีเมตตา คือมีความปรารถนาดีต่อลูกไม่มีที่สิ้นสุด

๒. มีกรุณา คือหวั่นใจในความทุกข์ของลูก และคอยช่วยเหลือเสมอไม่ทอดทิ้ง

๓. มีมุทิตา คือเมื่อลูกมีความสุขสบาย ก็มีความปลาบปลื้มยินดีด้วย ความจริงใจ

๔. มีอุเบกขา คือเมื่อลูกมีครอบครัวสามารถเลี้ยงตนเองได้แล้ว ก็ไม่วุ่นวายกับชีวิตครอบครัวลูกจนเกินงาม และหากลูกผิดพลาดก็ไม่ซ้ำเติม แต่กลับคอยเป็นที่ปรึกษาให้เมื่อลูกต้องการ

-พ่อแม่เป็นเทวดาคนแรก (บุรพเทพ) ของลูก เพราะคอยปกป้องคุ้มกันภัยเลี้ยงดูลูกมาก่อนผู้มีความปรารถนาดีคนอื่นๆ

- พ่อแม่เป็นครูวิสุทธิเทพของลูก เพราะมีคุณธรรม 4ประการ ได้แก่

๑. ไม่ถือสาในความผิดของลูก แม้ว่าบางครั้งจะพลาดพรั้งล่วงเกิน ก็ให้อภัยเสมอ

๒. ปรารถนาประโยชน์แก่ลูกเสมอ ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร ก็ยังคงปรารถนา ให้ลูกดี มีความสุข

๓. เป็นทักขิเณยยบุคคล เป็นเนื้อนาบุญของลูก เป็นผู้ที่ลูกควรทำบัญต่อตัวท่าน

๔. เป็นอาหุเนยยบุคคล เป็นผู้ควรแก่การรับของคำนับ และการนมัสการของลูก

คุณธรรมของลูก

เมื่อพ่อแม่มีพระคุณมากมายปานนี้ ลูกจึงควรมีคุณธรรมต่อท่าน คุณธรรมของลูกเริ่มที่รู้จักคุณพ่อแม่ คือรู้ว่าท่านดีต่อเราอย่างไร สูงขึ้นไปอีก คือตอบแทนคุณท่าน ในทางพระพุทธศาสนา ได้บรรยายคุณธรรมของลูกไว้อย่างสั้นๆ แต่เก็บความไว้ได้อย่างครบถ้วน คือคำว่า กตัญญู กตเวที คุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นลูกรวมอยู่ใน ๒ คำนี้

กตัญญู หมายถึง เห็นคุณค่าท่าน คือเห็นด้วยใจ ด้วยปัญญา ว่าท่านเป็นผู้มีพระคุณต่อเราอย่างแท้จริง ไม่ใช่สักแต่ว่าปากท่องพระคุณพ่อแม่ปาวๆ ไปเท่านั้น

คุณของพ่อแม่ดูได้จากอุปการะ คือประโยชน์ที่ท่านทำแก่เรามีอะไรบ้าง ที่แตกต่างจากคนอื่น ตามธรรมดาของคนทั่วๆ ไป เมื่อจะอุปการะใคร เขาต้องเห็นทางได้ เช่น เห็นหลักทรัพย์ หรือดูนิสัยใจคอ ต่อเมื่อแน่ใจแล้วว่าอุปการคุณ ของเขาจะไม่สูญเปล่า จึงลงมือช่วยเหลือ แต่ที่พ่อแม่อุปการะเรานั้น เป็นการอุปการะโดยบริสุทธิ์ใจจริงๆ ไม่ได้มองถึงหลักประกันใดๆ เลย เราเองก็เกิดมาตัวเปล่าไม่มีหลักทรัพย์แม้แต่เข็มเล่มเดียว ยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าอวัยวะร่างกาย จะใช้ได้ครบถ้วนหรือไม่ ยิ่งนิสัยใจคอแล้วยิ่งรู้ไม่ได้เอาทีเดียว โตขึ้นมาจะเป็นอย่างไร จะเป็นคนอกตัญญูหรือไม่ ไม่รู้ทั้งนั้น หนังสือสัญญาการรับปากสักคำเดียวระหว่างเรากับท่านก็ไม่มี แต่ทั้งๆ ที่ไม่มี ท่านทั้งสองก็ได้โถมตัวเข้าช่วยเหลือเราจนสุดชีวิต ที่ยากจนก็ถึงกับกู้หนี้ยืมสินคนอื่นมาช่วย เรื่องเหล่านี้ต้องคิดดูด้วยเหตุผล อย่าสักแต่คิดด้วยอารมณ์เท่านั้น การพิจารณาให้เห็นคุณของพ่อแม่ด้วยใจอย่างนี้แหละเรียกว่า กตัญญู เป็นคุณธรรมเบื้องต้นของผู้เป็นลูก ยิ่งพิจารณาเห็นคุณท่านมากเท่าไร แสดงว่าใจของเราเริ่มใสและสว่างมากขึ้น เท่านั้น

กตเวที หมายถึง การทดแทนพระคุณของท่าน ซึ่งมีงานที่ต้องทำ ประการ คือ

๑. ประกาศคุณท่าน
๒. ตอบแทนคุณท่าน

การประกาศคุณท่าน หมายถึง การทำให้ผู้อื่นรู้ว่าพ่อแม่มีคุณแก่เราอย่างไรบ้าง มากน้อยเพียงใด เรื่องนี้มีคนคิดทำอยู่มากเหมือนกัน แต่ส่วนมาก ไปทำตอนงานศพ คือเขียนประวัติสรรเสริญคุณพ่อแม่ในหนังสือแจก การกระทำเช่นนี้ก็ถูก แต่ถูกเพียงเปลือกนอกผิวเผินนัก ถ้าเป็นการกินผลไม้ก็แค่เคี้ยวเปลือกเท่านั้น ยังมีทำเลที่จะประกาศคุณพ่อแม่ที่สำคัญกว่านี้ คือที่ตัวเรานี่เอง

คนเราทุกคนคือตัวแทนของพ่อแม่ตนทั้งนั้น เลือดก็แบ่งมาจากท่าน เนื้อก็แบ่งมาจากท่าน ตลอดจนนิสัยใจคอก็ได้รับการอบรมถ่ายทอดมาจากท่าน ความประพฤติของตัวเรานี่แหละ จะเป็นเครื่องประกาศคุณพ่อแม่อย่างชัดแจ้งที่สุด ไม่ใช่อยู่ที่หนังสือแจก ไม่ใช่อยู่ที่หีบศพบนเชิงตะกอน แต่อยู่ที่ตัวเรานี่เอง หากพิมพ์ข้อความไว้ในหนังสือแจกว่า คุณพ่อคุณแม่เป็นคนตั้งอยู่ในศีลในธรรม แต่ตัวเราเองประพฤติสำมะเลเทเมา คอร์รัปชั่นทุกครั้งที่มีโอกาส ศีลข้อเดียวก็ไม่สนใจรักษาก็ผิดที่ไป สดุดีคุณพ่อแม่ว่าเป็นคนดี สุภาพเรียบร้อย แต่ตัวเรา ผู้เป็นลูกกลับประพฤติตัวเป็นนักเลงอันธพาล อย่างนี้คุณค่าของการสรรเสริญพ่อแม่ก็ลดน้ำหนักลง กลายเป็นว่ามอบหน้าที่ในการกตเวทีประกาศคุณพ่อแม่ให้หนังสือทำแทน ให้กระดาษ ให้เครื่องพิมพ์ ให้ช่างเรียงพิมพ์ แสดงกตเวที แทน แล้วตัวเรากลับประจานพ่อแม่ของตัวเอง อย่างน้อยที่สุดก็ประจานแก่ ชาวบ้านว่าพ่อแม่ของเราเลี้ยงลูกไม่เป็นประสา

พ่อแม่ของใครใครก็รัก เมื่อรักท่านก็ประกาศคุณความดีของท่านสิ ประกาศด้วยความดีของตัวเราเองตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ยิ่งท่านยังมีชีวิตอยู่ การประกาศคุณของเราจะทำให้ท่านมีความสุขใจอย่างยิ่งส่วนใครจะประพันธ์สรรเสริญคุณพ่อแม่พิมพ์แจกเวลาท่านตายแล้ว นั่นเป็นประเด็นเบ็ดเตล็ด จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ไม่เสียหายอะไร

ไม่ว่าเราจะตั้งใจประกาศคุณท่านหรือไม่ ความประพฤติของเราก็เป็นตัวประกาศคุณท่านหรือประจานท่านอยู่ตลอดเวลา คิดเอาเองก็แล้วกันว่า เราจะประกาศคุณพ่อแม่ของเราด้วยเกียรติยศชื่อเสียง หรือจะใจดำถึงกับประจาน ผู้บังเกิดเกล้าด้วยการทำตัวเป็นพาลเกเรและประพฤติต่ำทราม

การตอบแทนคุณท่าน แบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ

๑. เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ช่วยเหลือกิจการงานของท่าน เลี้ยงดูท่านตอบเมื่อยามท่านชรา ดูแลปรนนิบัติการกินอยู่ของท่านให้สะดวกสบายและเอาใจใส่ช่วยเหลือเมื่อท่านเจ็บป่วย

๒. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็จัดพิธีศพให้ท่าน และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่านอย่างสม่ำเสมอ

แม้ว่าเราจะตอบแทนพระคุณท่านถึงเพียงนี้แล้ว ยังนับว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับพระคุณอันยิ่งใหญ่ที่ท่านมีต่อเรา ผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีต้องการจะสนองพระคุณท่านให้ได้ทั้งหมด พึงกระทำดังนี้

๑. ถ้าท่านยังไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็พยายามชักนำให้ท่านตั้งอยู่ในศรัทธาให้ได้

๒. ถ้าท่านยังไม่ถึงพร้อมด้วยการให้ทาน ก็พยายามชักนำให้ท่านยินดีในการบริจาคทานให้ได้

๓. ถ้าท่านยังไม่มีศีล ก็พยายามชักนำให้ท่านรักษาศีลให้ได้

๔. ถ้าท่านยังไม่ทำสมาธิภาวนา ก็พยายามชักนำให้ท่านทำสมาธิภาวนาให้ได้

เพราะว่าการตั้งอยู่ในศรัทธา การให้ทาน การรักษาศีล การทำสมาธิภาวนาเป็นประโยชน์โดยตรงและเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ตัวบิดามารดาผู้ปฏิบัติ เองทั้งในภพนี้ภพหน้า และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือเป็นหนทางไปสู่นิพพาน

อานิสงส์การบำรุงบิดามารดา

๑. ทำให้เป็นคนมีความอดทน

๒. ทำให้เป็นคนมีสติรอบคอบ

๓. ทำให้เป็นคนมีเหตุผล

๔. ทำให้พ้นทุกข์พ้นภัย

๕. ทำให้ได้ลาภโดยง่าย

๖. ทำให้แคล้วคลาดภัยในยามคับขัน

๗. ทำให้เทวดาลงรักษา

๘. ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ

๙. ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า

๑๐. ถ้ามีลูกก็จะได้ลูกที่ดี

๑๑. ทำให้มีความสุข

๑๒. ทำให้เป็นแบบอย่างอันดีแก่อนุชนรุ่นหลัง ฯลฯ

“เพราะการปรนนิบัติในมารดาบิดานั้นแล บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้นี่เอง เขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์”

ขุ. ชา. สตฺตติ ๒๘/๑๖๒/๖๗

หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

31/5/58

วันวิสาขบูชา



วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา 2558 ตรงกับวันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งปกติวันวิสาขบูชา ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 แต่ปีนี้เป็นปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหนก็เลื่อนเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 นั่นเอง

ความหมายของวันวิสาขบูชา

คำว่า วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" ดังนั้น วิสาขบูชา จึงหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6

การกำหนดวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 7 หรือราวเดือนมิถุนายน

อย่างไรก็ตาม ในบางปีของบางประเทศอาจกำหนด วันวิสาขบูชา ไม่ตรงกับของไทย เนื่องด้วยประเทศเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่งที่ต่างไปจากประเทศไทย ทำให้วันเวลาคลาดเคลื่อนไปตามเวลาของประเทศนั้น ๆ

ประวัติวันวิสาขบูชาและความสำคัญของ วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่เกิด 3 เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวียนมาบรรจบกันในวันเพ็ญเดือน 6 แม้จะมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี ซึ่งเหตุการณ์อัศจรรย์ 3 ประการ ได้แก่...

1. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ

เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "สมปรารถนา"

เมื่อข่าวการประสูติแพร่ไปถึงอสิตดาบส 4 ผู้อาศัยอยู่ในอาศรมเชิงเขาหิมาลัย และมีความคุ้นเคยกับพระเจ้าสุทโธทนะ ดาบสจึงเดินทางไปเข้าเฝ้า และเมื่อเห็นพระราชกุมารก็ทำนายได้ทันทีว่า นี่คือผู้จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงกล่าวพยากรณ์ว่า "พระราชกุมารนี้จักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เห็นแจ้งพระนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จะประกาศธรรมจักรพรหมจรรย์ของพระกุมารนี้จักแพร่หลาย" แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้นทรงรู้สึกอัศจรรย์และเปี่ยมล้นด้วยปีติ ถึงกับทรุดพระองค์ลงอภิวาทพระราชกุมารตามอย่างดาบส

2. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ

หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี จนเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

สิ่งที่ตรัสรู้ คือ อริยสัจสี่ เป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ต้นมหาโพธิ์ และทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิได้ฌานที่ 4 แล้วบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนได้ฌาน 3 คือ

ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ " คือ ทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่นได้
ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการมีตาทิพย์สามารถเห็นการจุติและอุบัติของวิญญาณทั้งหลาย
ยามสาม หรือยามสุดท้าย : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา

3. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป)

เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมเป็นเวลานานถึง 45 ปี จนมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 6 พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวายก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน 6 นั้น

ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชาในประเทศไทย

ปรากฏหลักฐานว่า วันวิสาขบูชาเริ่มต้นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกา นั่นคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นกษัตริย์ลังกา พระองค์อื่นๆ ก็ปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบทอดต่อกันมา

ส่วนการเผยแผ่เข้ามาในประเทศไทยนั้น น่าจะเป็นเพราะประเทศไทยในสมัยกรุงสุโขทัยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด เห็นได้จากมีพระสงฆ์จากลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

สำหรับการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาในสมัยสุโขทัยนั้น ได้มีการบันทึกไว้ในหนังสือนางนพมาศ สรุปได้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ ฯลฯ

หลังจากสมัยสุโขทัย ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มากขึ้น ทำให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) ทรงมีพระราชดำริที่จะให้ฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรก ในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อให้ประชาชนได้ทำบุญ ทำกุศล โดยทั่วหน้ากัน การรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาในครานี้ จึงถือเป็นแบบอย่างถือปฏิบัติในการประกอบพิธี วันวิสาขบูชา ต่อเนื่องมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ

วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญที่สุดทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากล้วนมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระศาสดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชานี้ และในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า Vesak Day ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ที่ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา และได้กำหนดวันวิสาขบูชานี้ถือเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา โดยการที่สหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกนั้น ได้ให้เหตุผลไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน

การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา

การประกอบพิธีใน วันวิสาขบูชา จะแบ่งออกเป็น 3 พิธี ได้แก่

1. พิธีหลวง คือ พระราชพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบในวันวิสาขบูชา 2. พิธีราษฎร์ คือ พิธีของประชาชนทั่วไป 3. พิธีของพระสงฆ์ คือ พิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจ
กิจกรรมในวันวิสาขบูชา

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติใน วันวิสาขบูชา ได้แก่

1. ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวร 2. จัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด และปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา 3. ปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล 4. ร่วมเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในตอนค่ำ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 5. ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา 6. จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาตามโรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ และเป็นการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา 7. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ 8. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์
หลักธรรมที่สำคัญในวันวิสาขบูชา ที่ควรนำมาปฏิบัติ

ใน วันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรยึดมั่นในหลักธรรม ซึ่งหลักธรรมที่ควรนำมาปฏิบัติในวันวิสาขบูชา ได้แก่

1. ความกตัญญู

คือ การรู้คุณคน เป็นคุณธรรมที่คู่กับความกตเวที ซึ่งหมายถึงการตอบแทนคุณที่มีผู้ทำไว้ ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ เป็นเครื่องหมายของคนดี ทำให้ครอบครัวและสังคมมีความสุข ซึ่งความกตัญญูกตเวทีนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้ง บิดามารดาและลูก ครูอาจารย์กับศิษย์ นายจ้างกับลูกจ้าง ฯลฯ

ในพระพุทธศาสนา เปรียบพระพุทธเจ้าเสมือนกับบุพการี ผู้ชี้ให้เห็นทางหลุดพ้นแห่งความทุกข์ ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงควรตอบแทนด้วยความกตัญญูกตเวทีด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และดำรงพระพุทธศาสนาให้อยู่สืบไป

2. อริยสัจ 4

คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใน วันวิสาขบูชา ได้แก่

ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต สภาวะที่ทนได้ยาก ซึ่งทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ การเกิด การแก่ และการตาย ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ ส่วนทุกข์จร คือ ทุกข์ที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก หรือ ความยากจน เป็นต้น

สมุทัย คือ ต้นเหตุของปัญหา หรือสาเหตุของการเกิดทุกข์ และสาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาเกิดจาก "ตัณหา" อันได้แก่ ความอยากได้ต่าง ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

นิโรธ คือ ความดับทุกข์ เป็นสภาพที่ความทุกข์หมดไป เพราะสามารถดับกิเลส ตัณหา อุปาทานออกไปได้

มรรค คือ หนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ เป็นการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา มี 8 ประการ ได้แก่ ความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ

3. ความไม่ประมาท

คือการมีสติตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ล้วนต้องใช้สติ เพราะสติคือการระลึกได้ การระลึกได้อยู่เสมอจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ซึ่งความประมาทนั้นจะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากตามมา ดังนั้นในวันนี้พุทธศาสนิกชนจะพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยความมีสติ

วันวิสาขบูชา นับว่าเป็นวันที่มีความสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน เป็นวันที่มีการทำพิธีพุทธบูชา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ อีกทั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ทั้ง 3 ประการ ที่มาบังเกิดในวันเดียวกัน และนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติในการดำรงชีวิต

พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก