สิทธิมนุษยชน
สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีสิทธิที่กฏหมายกำหนดและสิทธิที่ไม่ระบุไว้เป็นกฏหมาย
ความหมายของสิทธิมนุษยชน
หมายถึง สิทธิที่ทุกคนมีอยู่ในฐานะเป็นมนุษย์ ทั้งสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในส่วนบุคคลและสิทธิในการอยู่ร่วมกันในสังคม สิทธิในความเป็นมนุษย์นั้น มีทั้งสิทธิตามกฏหมายและสิทธิที่มีอยู่โดยไม่ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของกฏหมาย แต่เป็นสิทธิที่เกิดจากมาตรฐานเพื่อความถูกต้อง ความเป็นธรรม หรือความยุติธรรม แต่เดิมสิทธิมนุษยชนจะกล่าวถึงในชื่ออื่น เช่น สิทธิในธรรม สิทธิในธรรมชาติ เป็นต้น
• สิทธิในชีวิต ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้และได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัยได้รับการตอบสนองตามความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิต ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ทุกชีวิตล้วนมีคุณค่าด้วยกันทั้งสิ้น ไม่วาจะเป็นบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อการดำรงชีวิตอยู่เป็นพิเศษจากผู้อื่น เช่น คนพิการ คนชรา ฯลฯ ดังนั้นทุกคนควรปฏิบัติต่อบุคคลด้อยโอกาส ให้ความสำคัญ ให้โอกาสและให้ความช่วยเหลือตามสมควร เพื่อให้ทุกชีวิตมีความเท่าเทียมกันมากที่สุด
• สิทธิในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตนเองตามแนวทางที่ถูกต้อง คนในสังคมต้องให้โอกาสกับคนที่เคยกระทำไม่ถูกต้อง ให้โอกาสคนเหล่านี้ได้รับการอบรมแก้ไขและพัฒนาตนเองใหม่ ให้สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น
• สิทธิในการยอมรับนับถือ หมายถึง การที่บุคคลพึงปฏิบัติต่อกันด้วยการยอมรับซึ่งกันและกัน ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีและคุณค่าของชีวิตด้วยความเท่าเทียมกัน
ประเทศไทยได้เข้าร่วมรับรอง "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ดังนั้นบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงได้กำหนดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกคนตระหนักในความสำคัญของสิทธิมนุษยชน และเป็นแนวทางปฏิบัติต่อกันในฐานะเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน โดยตระหนักว่าทุกคนมีสิทธิในชีวิต มีสิทธิในการยอมรับนับถือ และมีสิทธิในการดำรงชีวิตและพัฒนาตนเองตามแนวทางที่ถูกต้องนั้นเอง
บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา ประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกสิบคน ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
• เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฏหมาย กฏ หรือข้อบังคับ ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
• ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสมอมาตรการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคล หรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าว เพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
• ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน
สรุปได้ว่า ทุกคนมีสถานภาพและบทบาทของตนเอง บุคคลต้องแสดงบทบาทให้สอดคล้องประสานกับสถานภาพของตนเอง
นอกจากนี้ทุกคนยังมีสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ต้องปฏิบัติซึ่งกฏหมายจะกำหนดไว้ ทุกคนควรให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เพื่อจะได้ปกป้องคุ้มครองตนเองและผู้อื่นให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างสงบสุข
แม้ว่าจะได้มีการให้สัตยาบันตามปฏิญญาณสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพื่อที่จะปกป้องคุ้มครองพลเมืองในแต่ละประเทศให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกันก็ตาม ก็ยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ ปรากฏอยู่ตลอดเวลา เช่น
หลายประเทศยอมให้มีการตรวจสอบ ว่าได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นในประเทศของตน เช่น อิสราเอลที่ยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และอีกหลายประเทศจากการสำรวจเมื่อปี 1994 องค์กรเอกชนที่มีชื่อว่า Amnesty International (องค์การอภัยโทษนานาชาติ) พบว่าในปี ค.ศ1993 นั้นใน 53 ประเทศมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก กล่าวคือ มีการกักขังนักโทษทางการเมือง หรือที่ขยายความให้มีขอบข่ายกว้างขวางมากกว่าเดิมคือ นักโทษแห่งจิตสำนึกที่แตกต่างออกไป มีเกินกว่า 1,000,000 คน ที่เสียอิสรภาพโดยไม่มีข้อกล่าวหาหรือไม่นำขึ้นไปสู่การพิพากษาในศาลสถิตยุติธรรม
ตัวอย่างในยุโรปคือ การสังหารโหดในบอสเนีย เฮอร์เซโกวินาจนต้องแยกออกมาจากยูโกสลาเวีย ในปี ค.ศ.1992 มีประชากร 4.6 ล้านคน เป็นคนมุสลิม ร้อยละ 44 ชาวเซอร์บ ร้อยละ 31 ชาวโครท ร้อยละ 17 นอกจากนั้นเป็นเชื้อชาติอื่น (ประเด็นการสู้รบคือ ชาวเซอร์บต้องการสร้างรัฐอิสระเชื้อชาตินิยมขึ้นมา)
ในทวีปเอเซียนั้นได้มีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมาก สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีจำนวนประชากรมาก (จีนมีมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก 1200 ล้านคน ) อันดับสอง คือ อินเดีย ประมาณ 950 ล้านคน
ตัวอย่างในกัมพูชา อัฟกานิสถาน จีน อินโดนีเซีย (กรณีติมอร์ตะวันออก)
ในกลุ่มประเทศอเมริกากลางและอเมริกาใต้ก็มีปัญหามาก เช่น ในบราซิล เอลซัลวาดอร์ เปรู เม็กซิโก และคิวบา
นอกเหนือจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยรัฐบาลหรือกลุ่มทางสังคมและการเมืองแล้วยังมีการละเมิดภายในครอบครัว และกลุ่มหรือหน่วยทางเศรษฐกิจอีกด้วย ภายในครอบครัวมีกรณีการละเมิดสิทธิเด็ก หรือการใช้ความรุนแรงในครอบครัว
การกักขังหน่วงเหนี่ยวหรือบังคับให้ทำงานมากเกินขอบเขตในโรงงานต่างๆ ก็มีปรากฏอยู่เสมอ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในโรงงานของคนไทยในมลรัฐแคลิฟอเนีย และผู้ตกเป็นเหยื่อคือคนไทยด้วยกันเอง