ต๊ะ ท่าหลา

5/7/58

อริยสัจ4

รู้จริงในอริยสัจ 4 สุดยอดวิถีชนะความทุกข์
มีนาคม 28, 2012 โดย ธ. ธรรมรักษ์
แล้วเราก็มาถึงส่วนแห่งการเรียนรู้วิธีเอาชนะทุกข์แนวพุทธแล้วนะครับ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การดำรงชีวิตให้เกิดความสุขและเอาชนะความทุกข์ได้นั้น เราต้องดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง และรับมือความทุกข์ได้อย่างเหมาะสม เพียงเท่านี้ก็เท่ากับเป็นการสร้างรากฐานให้ชีวิตของเรามีความสุขได้



ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือ เราต้องรู้หลักธรรมที่สอนสั่งว่า “ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องนั่น ต้องทำอย่างไร” และ “เมื่อเจอปัญหา หรือตัวทุกข์แล้ว เราจะกำจัดขับไล่มันอย่างได้ผลได้อย่างไร”



ในตอนนี้เราจะกล่าวถึงแนวทางชนะความทุกข์ก่อนนะครับ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงมอบหลักธรรมแห่งการดับทุกข์เอาไว้ให้เรานำไปใช้กัน นั่นก็คือ อริยสัจ 4 ซึ่งแปลว่า ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ อันประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค กล่าวคือหากเกิดทุกข์ขึ้นมาเมื่อใด ก็ใช้ อริยสัจ 4 นี่แหละ เป็นตัวรับมือ



ก่อนอื่นเรามารู้จักความหมายของมัน เพื่อจะใช้ได้รู้ว่าแต่ละตัวมีหน้าที่ทำอะไร และเราใช้งานมันได้อย่างไรบ้าง เมื่อเราเจอกับความทุกข์เข้า



ทุกข์ คือ สภาพที่ทนอยู่ได้ยาก ซึ่งก็คือความทุกข์นั่นเอง มันคือความจริงประการแรกที่ว่า มนุษย์เกิดมาแล้ว ย่อมต้องประสบกับทุกข์ ไม่ว่าจะทุกข์ทางกาย เช่น โรคภัยไข้เจ็บ หรือความแก่ชรา หรือทุกข์ทางใจ เช่น ความหมองมัวของจิตของเกิดจากกิเลสและนิวรณ์ทั้งหลาย



วิธีใช้เพื่อนำไปดับทุกข์ นี่ถือเป็นขั้นตอนแรกแห่งการดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ กล่าวคือ เราต้องมองเห็นทุกข์ รู้เสียก่อนว่าตอนนี้เรากำลังประสบกับทุกข์เรื่องอะไร ต้องใช้สติยอมรับว่า ทุกข์คือเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ และการไปตีโพยตีพาย โวยวายอาละวาดก็ไม่ได้ช่วยขับไล่ทุกข์ไป แต่มันเป็นการทำให้ใจร้อนรนยิ่งขึ้น ทำให้ทุกข์ที่มีขยายขนาดยิ่งขึ้น



ดังนั้นในขั้นตอนแรกแห่งการดับทุกข์อย่างมีเหตุและผล คือ เราต้องคุมสติให้ดี เข้าใจตามหลักความจริงว่า “ทุกข์ ย่อมเกิดขึ้นได้” เราต้องทำใจยอมรับมันอย่างตรงไปตรงมา กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา และไม่หลอกตัวเองหรือหาทางหนีปัญหา ซึ่งในทางพุทธศาสนา ได้เรียกแนวทางการปฏิบัติต่อทุกข์ อย่างมีสตินี้ว่า ปริญญา



สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ซึ่งตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดทุกข์ คือสิ่งที่เรียกว่า ตัณหา 3 อันประกอบไปด้วย กามตัณหา ซึ่งก็คือความทะยานอยากในกาม, ภวตัณหา ซึ่งก็คือความทะยานอยากที่จะเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ และ วิภวตัณหา คือ ความไม่อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งตัณหาเหล่านี้ คือสภาวะที่เกิดต่อเนื่องมาจากตัวกิเลสทั้งหลาย เมื่อเราเกิดกิเลส (โลภะ โทสะ โมหะ) เราก็จะเกิดความอยากหรือไม่อยากที่ชัดเจนเป็นรูปเป็นร่าง



วิธีใช้เพื่อนำไปดับทุกข์ หลังจากเรารู้จักตัวทุกข์ ขั้นต่อมาก็คือ เราต้องรู้ให้ถึงสาเหตุแห่งทุกข์ ว่ามันมีที่มาจากไหน ซึ่งการที่ผมได้บอกเล่ารายละเอียดแห่งทุกข์ไปเมื่อตอนที่แล้ว ก็เพื่อให้เราสามารถบอกตนเองได้ว่า ตอนที่เรากำลังเป็นทุกข์นั้น เราทุกข์เพราะอะไร เช่น เราทุกข์เพราะความอยากได้ (ทุกข์เพราะกิเลส ประเภทโลภะ) หรือทุกข์เพราะความโกรธเกลียด (ทุกข์เพราะกิเลส ประเภทโทสะ) เราจะได้เห็นถึงสาเหตุ และทำการยุติมันได้อย่างตรงจุด



เปรียบได้กับหมอที่หากจะรักษาอาการป่วยของคนไข้ ก็ต้องมองให้ถูกว่าเขาเป็นโรคอะไร จะได้ให้ยาถูกชนิด ซึ่งการมองปัญหาไปถึงต้นตอ และเตรียมลงมือแก้ไขนั้น มีคำเรียกเฉพาะว่าเป็น ปหานะ



นิโรธ คือ การดับทุกข์ กล่าวคือเป็นการลงมือยุติตัณหา 3 นั้นให้หมดไป ซึ่งนี่ถือเป็นขั้นตอนจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกอันเป็นทุกข์ อันร้อนรนของเรา โดยการลงมือดับตัณหาทั้งหมด เปรียบได้กับถ้าทุกข์เป็นไฟ นิโรธก็คือขั้นตอนการทำให้ไฟนั้นดับลง ถ้าถึงขั้นเป็นไฟสิ้นเชื้อได้จะยิ่งดี



สำหรับการใช้นิโรธเพื่อดับตัณหานั้น มี 5 แนวทางที่เราสามารถนำไปปรับใช้เพื่อจัดการกับตัวตัณหาได้



1. วิกขัมภนนิโรธ คือ การดับด้วยการข่ม ซึ่งสามารถทำได้สำหรับผู้ที่ฝึกฝนจิตใจมาดีในระดับหนึ่ง ก็จะสามารถทำใจให้อยู่เหมือนกิเลสตัณหาทั้งปวง มองว่ามันเป็นของธรรมดาที่เกิดมาแล้วย่อมดับไป



2. ตทังคนิโรธ คือ การดับกิเลสตัณหาด้วยหลักธรรมอันเป็นคู่ปรับของมัน เช่นเมื่อเราเกิดโทสะ เราก็ต้องนึกถึงธรรมแห่งความอดทนอดกลั้น หรือขันติขึ้นมาเพื่อสงบระงับมัน



3. สมุทเฉจนิโรธ คือ การดับกิเลสตัณหาด้วยการตัดขาด โดยใช้หลักแห่งมรรคมีองค์ 8 เข้าจัดการ (ซึ่งจะมีการกล่าวถึงมรรคมีองค์ 8 ในส่วนถัดไป)



4. ปฏิปัสสัทธินิโรธ คือ การดับกิเลสตัณหาด้วยการสงบระงับ สามารถระงับกิเลสได้อย่างรวดเร็วได้จิตที่ฝึกมาดีแล้ว



5. นิสสรณะนิโรธ คือ การดับกิเลสโดยสิ้นเชิง และดับได้ต่อเนื่องตลอดไป ซึ่งก็คือการถึงขั้นนิพพาน มองทุกสิ่งที่เรื่องว่าง ดับกิเลสได้อย่างถาวร



วิธีใช้เพื่อนำไปดับทุกข์ หลายท่านอาจสงสัยว่า เมื่อรู้ทุกข์และเหตุแห่งทุกข์แล้ว ทำไมขั้นถัดมาถึงไม่ใช่การลงมือแก้ปัญหา แต่กลับต้องมาหาทางระงับทุกข์ให้ดับก่อนถึงจะเริ่มแก้ปัญหา



นั่นก็เพราะในยามที่ใจเราร้อนรน อันเกิดจากไฟแห่งความทุกข์แผดเผา พลังสติปัญญาและความคิดก็จะอ่อนแรงหรืออาจไม่มีพลังเพียงพอที่จะทำอะไรได้ อีกทั้งการพยายามคิดหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาท่ามกลางใจที่ยังมีไฟสุมทรวง ก็เปรียบได้กับการพยายามขับรถออกจากป่ายามค่ำมืด หรือการพยายามแก้ปัญหาด้วยใจที่ลนลาน ซึ่งย่อมเป็นการยากที่เราจะสามารถจัดการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ



นี่จึงเป็นขั้นตอนแห่งการหาทางสงบจิตใจ หรือ ตั้งสติ เพื่อเรียกพลังแห่งปัญญาให้เกิดขึ้น เราจะได้ลงมือแก้ปัญหาได้ มองสาเหตุของปัญหา มองที่มาของตัวทุกข์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง อันจะส่งผลให้เราสามารถเอาชนะทุกข์ตัวนั้นได้อย่างเด็ดขาดที่สุด



มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่การดับทุกข์ หรือก็คือการลงมือแก้ปัญหา โดยการปฏิบัติสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสำหรับการระงับทุกข์นั้นให้จบสิ้นไป ซึ่งเราจะกระทำสิ่งที่ถูกได้ก็ต่อเมื่อเราผ่านกระบวนการรู้ตนว่าทุกข์เรื่องอะไร (ทุกข์) รู้ว่าทุกข์เพราะอะไร (สมุทัย) และทำใจสงบ เปิดสมอง เรียกสติปัญญากลับมาเป็นมือขวาช่วยในการฝ่าฟันปัญหาพร้อมแล้ว (นิโรธ)



ในขั้นตอนแห่งมรรคนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงมอบหลักที่เรียกว่า มรรคมีองค์ 8 ไว้ เพื่อให้เป็นแนวทางในการวางแผนเอาชนะความทุกข์ ในการเลือกปฏิบัติสิ่งที่ถูกต้องเพื่อยุติปัญหาทุกรูปแบบ กล่าวคือหากอยากเอาชนะความทุกข์ได้ ก็ควรดำเนินการตามแนวทางต่อไปนี้



1. สัมมาทิฏฐิ คือ การเห็นชอบ

หมายถึง การลงมือกำจัดทุกข์ หรือแม้แต่การใช้ชีวิตปกตินั้น เราควรทำโดยมีรากฐานแห่งความคิดและความเชื่อที่ถูกต้องอยู่เสมอ (เช่น เชื่อว่าทำดีย่อมได้ดี เป็นต้น) ใช้ปัญญาในการเลือกทำ เลือกปฏิบัติในสิ่งที่เกิดคุณ ไม่ใช่เกิดโทษ ไม่ใช่ทำด้วยความหลงผิดหรือทำด้วยความไม่รู้ ดังนั้นเราจึงควรสำรวจตัวเองก่อนลงมือแก้ปัญหาหรือเอาชนะความทุกข์เสมอว่า ตอนนี้เรามีความเห็นความเชื่อที่เหมาะสม ถูกต้องแล้วหรือยัง



2. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ

หมายถึง การใช้สมองและใช้ความคิดในทางที่นำไปสู่ความดีงาม หากจะลงมือเอาชนะความทุกข์ก็ต้องเป็นการแก้ทุกข์แล้วเกิดความงอกงามขึ้น เกิดสิ่งดีงามขึ้น ไม่ใช่แก้ทุกข์ของเราแล้วไปเกิดทุกข์กับชาวบ้านต่อ กล่าวคือต้องเป็นการคิดที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ถึงจะช่วยให้การเอาชนะความทุกข์ได้ผลอย่างสมบูรณ์



3. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ

หมายถึง การแก้ปัญหาหรือการดำรงชีวิตประจำวันก็ควรใช้คำพูดคำจาที่ไพเราะ ดีงาม พูดแล้วเกิดผลดี พูดแล้วทำให้คนรักกัน เกื้อกูลกัน เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ พูดให้เกิดความสร้างสรรค์และสมัครสมานสามัคคี หรือพูดแล้วทำให้เกิดทางออก จึงเป็นหลักที่มีไว้เพื่อเตือนสติยามเอาชนะความทุกข์ว่า การพูดไม่ดี พูดด้วยอารมณ์ รังแต่จะทำให้เกิดปัญหาเพิ่ม จึงควรมีสติ สงบระงับไว้ ข่มคำพูดที่สร้างเรื่องเชิงลบไว้ให้ได้



4. สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติชอบ

หมายถึง มีการกระทำในทางที่ดีงาม ทำแต่พฤติกรรมที่ดี ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำให้ใครทุกข์ใจ ทำพฤติกรรมที่ดีต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ทำอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา และไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งการที่คนเรามีพฤติกรรมที่ถูกก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดความผิดพลาดในชีวิต หรือโอกาสการเกิดทุกข์ได้เป็นอย่างดี และหากเราถึงขั้นประพฤติชอบได้เป็นปกติวิสัยแล้ว ความทุกข์ที่เราจะต้องเผชิญก็อาจจะเหลือแค่ความทุกข์ที่เกิดจากภายนอกเท่านั้น



5. สัมมาอาชีวะ คือ ประกอบอาชีพชอบ

หมายถึง การประกอบอาชีพที่สุจริต อาชีพที่สร้างความเจริญทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ อาชีพที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน ไม่ใช่แก่งแย่งทำร้าย ทำให้ใครต้องเสียประโยชน์ ซึ่งหากคนเราประกอบอาชีพในความเหมาะสม ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อกัน ก็จะเป็นทางสำคัญที่ช่วยบรรเทาความทุกข์ในชีวิตลงไปได้อีกมากมายทีเดียว



6. สัมมาวายามะ คือ การมีความเพียรชอบ

หมายถึง การพยายามที่จะดำรงตนอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องเหมาะสม หมั่นเตือนตนไม่ให้ทำอกุศลกรรม หรือทำสิ่งที่ไม่ดี เตือนตนว่าหากนาทีนี้ทำสิ่งไม่ดีหรือในอดีตทำสิ่งไม่ดี ก็ขอให้ละเลิก และหันมาทำสิ่งที่ดี เพื่อให้ชีวิตของตนในภายภาคหน้าได้พบ ได้เจอกับสิ่งที่ดีๆ เช่นกันกับในทางการแก้ปัญหา หากเรารู้ว่าในอดีตนั้น เราต้องเจอทุกข์ ต้องเจอปัญหาก็เพราะการทำผิดพลาดใดๆ แล้ว เราก็ต้องพยายามอย่างมากที่จะนำตนเองเข้าสู่เส้นทางแห่งความถูกต้อง



7. สัมมาสติ คือ การมีสติเสมอ

หมายถึง การตั้งตนอยู่ในความมีสติ ตระหนักรู้เสมอว่า เรากำลังจะทำอะไร หรือกำลังทำอะไรอยู่ในขณะนี้ ไม่เผลอไผลลืมตัว บอกตนเองเสมอว่าจงทำสิ่งชอบ และละเว้นการทำสิ่งมิชอบ โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหารบกวนจิตใจเราก็ต้องไม่ปล่อยให้ใจเผลอไผลขาดสติ จำไว้ว่าสติต้องอยู่กับเราเสมอ เมื่อใดก็ตามที่เราหุนหัน สับสน หรือเกิดอารมณ์เชิงลบ นั่นแสดงว่าสติกำลังเลือนหายไป เราต้องรีบเตือนตัวเองเรียกสติกลับคืนมาให้เร็วที่สุด และใช้สตินั้นพิจารณาตัวตนในปัจจุบันของเรา ว่ากำลังโกรธหรือไม่ กำลังเศร้าหรือไม่ กำลังเครียดหรือไม่ ซึ่งการใช้สติพิจารณาก็เพื่อที่เราจะได้ลงมือปฏิบัติสิ่งที่ถูกต้องต่อไป ซึ่งการมีสตินี้เองคือจุดสำคัญมากของอริยสัจ 4



8. สัมมาสมาธิ คือ การมีสมาธิตั้งมั่นอยู่ในทางที่ชอบ

หมายถึง การตั้งมั่นให้ใจอยู่เหนือกิเลส อยู่แต่ในทิศทางที่ดี ยามเกิดปัญหาหรือความทุกข์ ก็มีพลังสมาธิที่จะจดจ่อพิจารณาความทุกข์นั้นอย่างมีสติ มีเหตุผล และมีขั้นตอน มีความจดจ่อที่สร้างพลังให้กับจิตใจ ไม่ปล่อยให้อารมณ์ผันผวนไปตามสภาวะต่างๆ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย เพื่อจะได้ทำให้เรามีความมั่นคงทางจิตใจ อันจะทำให้ตัดสินใจทำอะไรหรือไตร่ตรองอะไรได้อย่างเหมาะควรเสมอ



วิธีใช้เพื่อนำไปดับทุกข์ มรรค คือ ขั้นตอนแห่งการลงมือดับทุกข์ ชนะทุกข์ ซึ่งขอเพียงเรามีสติ มีความใจเย็นเพียงพอแล้ว เราก็ค่อยเริ่มกระบวนการคิด ไตร่ตรอง วิเคราะห์ พิจารณาสิ่งต่างๆ ด้วยใจเป็นกลาง และด้วยความคิดที่มุ่งหมายให้เกิดเรื่องในทางบวก ทางสร้างสรรค์ แล้วก็ค่อยๆ ประยุกต์ลงมือทำไป เช่น หากวันหนึ่งโทรศัพท์มือถือของเราเกิดหายไป แน่นอนว่าเราต้องทุกข์อย่างมาก และอาจเกิดอารมณ์ขุ่นมัว ไม่พอใจ เกิดความเศร้า หรือดีไม่ดีก็อาจเกิดกิเลสในเชิงโทสะ คิดว่ามีคนมาขโมยไป หรือไม่ก็เกิดโมหะ สับสน งงงันทำอะไรต่อไปไม่ถูก แต่เราต้องรีบดึงสติกลับมา ตั้งสติให้เร็วที่สุด ค่อยๆ ระลึกหาสาเหตุ ว่าเราอาจไปทำหล่นไว้ที่ไหน หรือ เราควรไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้ช่วยตามหาหรือไม่ หรือ จะต้องเผื่อใจว่าเราอาจต้องซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ ในกรณีที่หาไม่เจอ



ระหว่างการดำเนินการแก้ปัญหานั้น เราก็ต้องระลึกถึงหลักแห่งมรรคมีองค์ 8 ไว้เสมอ ว่าเราต้องทำสิ่งที่ถูก ไม่โวยวาย ไม่อารมณ์เสีย ไม่ขาดสติ และไม่หันไปทำสิ่งผิดเสียเอง (เช่น ไปขโมยมือถือหรือขโมยเงินคนอื่นมาซื้อมือถือใหม่ให้ตัวเอง)



จุดสำคัญแห่งการเอาชนะความทุกข์นั้น คือ เราต้องมีสติ ต้องเรียกสติให้พร้อมเสมอ ต้องมาก่อนอื่นใด อย่าปล่อยให้ใจวุ่นวายสับสน ซึ่งหากจะถามว่าแล้วต้องทำอย่างไรถึงจะมีสติ เรื่องนี้ก็ต้องอยู่ที่ตัวเราเองว่าจะหมั่นฝึกฝนพลังแห่งสติมากน้อยแค่ไหน



และสำหรับคนที่ยังไม่ค่อยกระจ่างนักในกระบวนการของอริยสัจ 4 เพราะมันเป็นเรื่องที่ละเอียดและต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ผมก็ขอแนะนำให้คุณอ่านบทนี้อีกสักครั้ง ซึ่งหากยังรู้สึกว่าเรื่องนี้ซับซ้อนมากอยู่ ก็ไม่ต้องกังวลครับ ในบทถัดๆ ไปผมยังมีพุทธวิธีชนะความทุกข์อีกกลุ่มหนึ่ง ที่สามารถเข้าใจได้ง่ายกว่า แต่ก็ยังคงหลักการแห่งอริยสัจ 4 นี้ไว้อย่างครบถ้วน